ดาวตก ชนิดระเบิดเหนือท้องฟ้าหลายจังหวัดของไทย
ดาวตก วานนี้ (6 มีนาคม) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ช่วงหัวค่ำมีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบเป็นทางยาวเหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย แสงดังกล่าวปรากฏขึ้นประมาณ 2 ครั้ง เมื่อเวลาประมาณ 19.13 น. มีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้นแตกออกเป็น 2-3 ส่วน และเวลาประมาณ 20.21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้งเป็นสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน คาดว่าเป็น ‘ดาวตกชนิดระเบิด’
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้พบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัด กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย เช่น ราชบุรี, เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, นครสวรรค์, ศรีสะเกษ, ชุมพร, บุรีรัมย์, ชลบุรี, สมุทรสาคร, นครปฐม, นครนายก, ระยอง, ชัยภูมิ, เชียงใหม่
จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ซึ่งเกิดจากวัตถุบนท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้ จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้าที่เราเรียกว่า ดาวตก
กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)
ศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า และสีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ
ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน
ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คนจึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์